ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปักษาวายุภักษ์ หรือนกการเวก นั้น เรียกกันอีกชื่อหนึ่งในวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วงว่า นกกรวิค อธิบายว่ามีเสียงไพเราะยิ่งนัก สัตว์ทุกชนิดเมื่อได้ยินเสียงนกกรวิคแล้วจะต้องหยุดฟัง










 มาทำความรู้จักกับปักษาวายุภักษ์

เป็นนกที่ปรากฏชื่อในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ว่า อสูรวายุภักษ์ รูปร่างเป็นนกอินทรี ตัวและหน้าเป็นยักษ์ มีปีก มีหาง มีเท้าเหมือนครุฑ แต่หางมีแววเหมือนนกยูงตามประวัติในเรื่องรามเกียรติ์ว่า วายุภักษ์มีพ่อเป็นอสูรผู้ครองกรุงวิเชียร ซึ่งอยู่ที่เชิงเขาจักรวาลเป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์มาก จึงมักจะเที่ยวข่มเหงรังแกเทวดาและฤาษีชีไพรอยู่เสมอ เมื่อพระรามพระลักษมณ์ออกเดินดงครั้งที่ 2 อสูรวายุภักษ์บินผ่านมาพบเข้าจึงโฉบลงมาจับพระราม พระลักษณ์จะนำไปกินเป็นอาหาร หนุมาน สุครีพ และไพร่พลลิงก็รีบตามไปช่วย และได้เข้าต่อตีกับอสูรวายุภักษ์
ในที่สุดก็ช่วยพระราม พระลักษมณ์ไว้ได้ และองคตกับนิลพัทก็ได้ฆ่าอสูรวายุภักษ์ตาย รูปนกวายุภักษ์ เดิมเป็นตราตำแหน่งพระยาราชภักดี ผู้มีหน้าที่เป็นหัวหน้าทำการคลังมาก่อน คณะเสนาบดีในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กำหนดให้นำตรานกวายุภักษ์มาใช้เป็นตรากระทรวงพระคลัง และใช้เป็นตรากระทรวงการคลังติดต่อกันเรื่อยมา โดย สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงใช้รูปนกการเวกเป็นแบบการเขียนตราวายุภักษ์
นอกจากนี้ในพระบาลีระบุว่าเสียงของพระพุทธเจ้านั้นเหมือนเสียงพรหม แจ่มใสชัดเจน อ่อนหวาน สำเนียงเสนาะ ไม่แตก ลึกซึ้ง มีกังวาลไพเราะและเหมือนเสียงนกการเวก ส่วนอาหารของนกการเวกนั้น มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ปัญจสุทนีว่า นกการเวก กินน้ำมะม่วงสุกเป็นอาหาร แต่โดยที่นกชนิดนี้หายากหลงเข้าใจกันแต่ว่าอยู่บนท้องฟ้ากินลมเป็นอาหารจึงตั้งชื่อว่า วายุภักษ์ ก็มีเช่นกัน ตามวรรณคดีไตรภูมิพระร่วงนั้น กล่าวว่าขนนกการเวกนั้นเป็นที่ต้องการเพราะกลายเป็นทองคำได้



ในพระธรรมนูญใช้ตรากล่าวว่าตราปักษาวายุภักษ์ เป็นตราของพระยาราชภักดีฯ เจ้ากรมพระจำนวน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากร ต่อมาเมื่อโปรดให้ตั้งกระทรวงพระคลังฯและใช้ตราพระสุริยมณฑลแล้ว ตราปักษาวายุภักษ์ก็เลิกใช้ แต่นำเอามาใช้เป็นเครื่องหมายกระทรวงการคลัง นกวายุภักษ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ตรัสอธิบายไว้ดังนี้ "ถ้าแปลตามคำก็ว่า นกกินลม ข้อยากในนกนี้เกิดขึ้นในที่ประชุมเสนาบดี สั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงเขียนผูกตรากระทรวงต่างๆเป็นลายข้อมือเสื้อเครื่องแบบ หากเป็นตราเก่าซึ่งมีตราประจำกระทรวงอยู่แล้ว จะเอามาใช้ได้ให้ใช้ตราเก่า ที่เป็นกระทรวงใหม่ไม่มีตรามาแต่เดิมจึงคิดผูกขึ้นใหม่
โดยคำสั่งอย่างนี้กระทรวงใดก็ไม่ยากเท่ากระทรวงคลัง ซึ่งเดิมพระยาราชภักดีฯทำการในหน้าที่ เสนาบดีกระทรวงพระคลัง คือตรานกวายุภักษ์ รูปนกวายุภักษ์ในตรานั้นก็เป็นนกแบบสัตว์หิมพานต์ เหมือนกับนกอินทรีย์ ฉะนั้นไม่ทรงเชื่อว่าถูก จึงได้ทรงรำลึกต่อไป ก็ทรงรำลึกได้ว่า มี ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีความว่าทรงพระมาลาปักขนนกวายุภักษ์ ก็ทรงค้นหาพบในหมายท้ายหนังสือพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนริทรเทวี
เมื่อมีคำปรากฏเช่นนั้น นกวายุภักษ์ก็คือ นกการเวก เพราะพระมาลาทุกชนิดที่ปักขนนก ย่อมใช้ขนนกการเวกอย่างเดียวเป็นปกติ เมื่อทรงดำริปรับนกวายุภักษ์กับนกการเวกเข้ากัน ก็เห็นลงกันได้โดยมีทางเราพูดกันว่า นกการเวกนั้นมีปกติอยู่ในเมฆบนฟ้า กินลมเป็นภักษาหารตามที่ว่าพิสดารเช่นนั้น ก็เพราะนกชนิดนั้นในเมืองเราไม่มีและที่ว่ากินลมก็เพราะในเมฆไม่มีอะไร
นอกจากลมจึงให้กินลมเป็นอาหาร แต่เมื่อปกติของมันอยู่ในเมฆแล้วก็ไฉนเล่ามนุษย์จึงได้ขนมันมาปักหมวก เชื่อว่าเพราะเหตุที่น่าสงสัยเช่นนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงตรัสสั่งไปต่างประเทศที่ส่งขนนกชนิดนั้นเข้ามา ให้ส่งตัวนกเข้ามาถวาย จึงได้ตัวจริงเป็นนกยัดไส้มีขนติดบริบูรณ์เข้ามา ก็เป็นนกที่เรียกตามภาษาอังกฤษ Paradise Bird ซึ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษเช่นนี้ นึกว่าแปลมาจากภาษาแขก ความก็ว่าเป็นนกฟ้าเราคงได้ฟังแขกเขาว่า จึงละเมอตามไป
เมื่อได้นกยัดไส้เข้ามาแล้วจึงทรงจัดเอาขึ้นเกาะคอนมีด้าม ให้เด็กถือนำพระยานุมาศในงานสมเด็จเจ้าฟ้าโสกันต์ ตามที่ได้พยานมาว่าเป็นนกอยู่ในแผ่นดิน ไม่ใช่นกอยู่ในฟ้าเช่นนั้น ใครจะเชื่อกันหรือไม่ก็หาทราบไม่ แม้ราชสีห์เมื่อได้ตัวจริงมาบอกใครว่า นี่แหละราชสีห์ก็ไม่มีใครเชื่อด้วยไม่เหมือนกับที่เราปั้นเขียนกัน ตามที่เราปั้น เขียนกันนั้น ขาดสิ่งสำคัญที่ไม่มีสร้อยคอ อันจะพึงสมชื่อว่า ไกรสร หรือ ไกรสรสีห์ หรือ ไกรสรราชสีห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น